วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

                                           การตรวจพิสูจน์สายเลือดม้าโดยใช้ ดี เอ็น เอ 



การตรวจสอบพันธุกรรมหรือ ดีเอ็นเอ ของม้านั้นเป็นเทคโนโลยีอันเดียวกันที่ใช้กับคน หากแต่สามารถทำได้มากกว่าการตรวจสอบหาพ่อแม่   นั่นคือสามารถตรวจสอบเรื่องของสายพันธุ์   สี โรคที่มีมากับม้าสายนั้นๆ         อีกทั้งเพื่อเป็นการยืนยันสายพันธุ์พ่อแม่ของลูกม้าก่อนการขึ้นทะเบียนอีกด้วย     และต่อไปจะเป็นการ(พยายาม...อย่างยิ่งยวด )ที่จะอธิบายให้พอเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สำหรับการพิสูจน์ โดย เจ้า ดีเอ็นเอ ที่ว่า จะต้องประกอบด้วย 
- โครโมโซม เจ้าตัวนี้จะอยู่ในนิวเคลียส (เหมือนไข่แดง) ของเซลล์ร่างกายคน   โครโมโซมจะอยู่เป็นคู่ แต่ละคู่จะประกอบด้วยของพ่อและของแม่อย่างละอัน
ดีเอ็นเอ   (DNA,deoxyribonucleic acid) เป็นโมเลกุลของตัวประกอบ 4 ตัวหลัก คือ A (adenine), T (thymine), G (guanine) และ C (cytosine) 
- ยีนส์   เจ้าตัวนี้มาพร้อมกับตัว ยีนส์ มาร์กเกอร์ หรือที่เรียกว่าโลไซ
- ไมโครแซทเทลไลท์ หรือว่าดาวเทียมจิ๋ว เจ้าตัวนี้จะเป็นตัวกำหนด ดีเอ็นเอ หรือที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ มาร์กเกอร์ 
- อัลลีล Allele ตัวนี้สำคัญสุด เพราะว่าเป็นตัวกำหนดยีนส์ หรือ ยีนส์มาร์กเกอร์    โดยจะมีมาสองตัว   เป็นของพ่อและของแม่อย่างละตัว
ฝรั่งเขาอ้างว่า เมื่อมีการพิสูจน์ ดีเอ็นเอ ม้านั้น แม้ว่าจะเป็นสมุดคู่มือประวัติทะเบียนม้าทองคำที่ก่อตั้งในปี 1791 โดยเวเธอร์บี้แอนด์ซัน   ก็ได้ตรวจพบว่า จากจำนวนแม่ม้าแข่งพันธุ์ดี 30 ตัว    ประมาณ ครึ่งนึงหรือ 15 ตัว พบว่ามีสายเลือดไม่ตรงกับการบันทึกในสมุดประวัติ (แต่มีคนไทยจำนวนเยอะมากที่ฝรั่งบอกบอกว่า สายเลือดต้องอย่างนั้นอย่างนี้... เราก็เชื่อเขาทันที ...นี่ตรวจแค่ 30 ตัวนะครับ ) และอันนี้ขอเฉลยเลยว่า ของฝรั่งเขาก็มั่วเหมือนกัน ครับทั่น   หากท่านมีม้ามากกว่าสามตัว และมีลูกม้าหนุ่มอยู่ในฝูง ก็จะรู้ว่าการป้องกันการผสมของม้านั้นยากกว่าที่เราคิด ปัจจัยอีกหลายประการคือ ม้าหลุดไปผสม   ม้าที่นำมาแข่งหลุดมาผสม   ลูกม้าผสมกันเอง ฯ จิปาถะ
    
ในตอนท้ายของบทความนี้เขาบอกว่า   เท่าที่ผ่านมาการจัดทำสมุดทะเบียนม้ามีจุดอ่อนมากมาย การตรวจ DNA จะช่วยท่านเจ้าของม้ากำจัดจุดอ่อนที่ว่านี้     ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่าควรเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของม้าเร่งนำพ่อม้าและแม่ม้าไปบันทึกการตรวจ ดีเอ็นเอ เสียแต่เนิ่นๆ    เพื่อจะได้สร้างเป็นฐานข้อมูลเก็บไว้ก่อน เมื่อลูกม้าเกิดออกมาก็ตรวจเฉพาะของลูกอย่างเดียว เพื่อเป็นการยืนยัน ความถูกต้องอีกที เนื่องจากในแต่ละปี มีการตรวจพบว่ามีลูกม้าจำนวนเยอะมากที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากแม่ม้าตายไปก่อน 
การใช้บาร์โค้ดในม้า RFID Chips in Horses
ท่านที่ไปซื้อสินค้าตามห้างร้านต่างๆคงจะคุ้นตากับการที่พนักงานเก็บเงินนำสินค้ามารูดปรื๊ด ๆ ๆ... ที่เครื่องยิงบาร์โค้ด โดยหากเราสังเกตสักหน่อยก็จะพบว่าที่สินค้าจะมีแถบขีดสีดำเรียงเป็นเส้นเล็กๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของสินค้าแต่ละชนิด ไม่ซ้ำกัน   วิธีการนี้นอกจากจะทำให้คิดราคาสินค้าได้รวดเร็วแล้ว ยังมีความแม่นยำเป็นอย่างสูงที่จะไม่ทำให้ลูกค้าได้สินค้าผิดไปจากราคาที่เลือกมา
ในวงการม้าก็เช่นกัน ปัจจุบันเริ่มมีการรณรงค์ที่จะใช้บาร์โค้ดติดเข้าไปในตัวม้า สาเหตุหลักก็เกิดจากการที่มีโรคระบาดม้าประเภท EHV-1 (Equine Herpes Virus Type 1) หรือที่บางคนเรียกว่าโรคเอดส์ม้า เชื้อโรคนี้ในยามปกติจะไม่แสดงตน แต่เมื่อม้าเริ่มมีอาการเครียดก็จะเริ่มมีอาการ และสามารถติดต่อผ่านทางอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวหรือลมหายใจของม้าได้ เช่น ขลุม สายจูง ภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น และเจ้าเชื้อโรคนี้ส่งผลทำให้วงการต้องได้รับความเสียหายหลายร้อยหรือหลายพันล้านบาท
เมื่อประมาณปี ค.ศ. 2007 ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีการเสนอให้ใช้แถบบาร์โค้ดหรือ RFID (Radio frequencies Identification) ฝังเข้าในตัวม้า วงการอื่นเขาใช้มานานแล้ว เช่น หมู วัว หรือกระต่าย ทั้งนี้ก็เพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมโรคม้าเสียก่อนเป็นอันดับแรก แต่ประโยชน์อื่นๆที่ตามมาก็มีอีกมากมาย เช่น การขึ้นทะเบียนม้า   การตรวจสอบสายพันธุ์   การตามหาม้าที่โดนขโมย   การป้องกันการสวมทะเบียนม้าแข่ง ฯ
วิธีการทำก็ไม่ยาก โดยการใช้ชิปที่มีขนาดประมาณเมล็ดข้าวสาร ฝังหรือฉีดที่บริเวณต้นคอม้า (ปลายผม ต้นตระโหนก) ด้านซ้าย   ก่อนการฝังนั้นก็จะต้องมีการใส่ข้อมูลเสียก่อนว่าเป็นม้าประเภทไหน ลูกใคร เคยตรวจโรครักษาที่ไหนอย่างไรมาก่อน....อื่นๆอีกจิปาถะ เหมือนข้อมูลสินค้าตามห้าง เมื่อเวลาจะใช้ก็ใช้เครื่องยิงบาร์โค้ดมายิงปี๊บเข้าไป หลังจากนั้นจึงนำมาแปลรหัส หากมีข้อมูลตรงกับที่บันทึกไว้ก็ไม่มีปัญหา 
การฝังชิปและการใช้งานไม่ยากครับ เพราะวันก่อนเห็นช่อง TPBS นำรายการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาออกอากาศการใช้งานของ RFID ในหมู และกระต่าย ก็เห็นว่าง่ายและสะดวกน่าใช้ดีมาก
ที่สำคัญคือลดข้อขัดแย้งที่ว่าม้าสายอะไร พันธุ์ไหน พ่อแม่คือตัวไหน หรือม้าแข่งสวมทะเบียน ได้อย่างหมดจดครับ
 
 
                                                         ลักษณะของม้า



การเลือกม้าเพื่อจะเลี้ยงไว้ดูเล่นหรือเลี้ยงไว้ด้วยเหตุผลอื่นก็ตาม วิธีเลือก (ของไทย) ที่ยอม รับกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันก็คือการดูลักษณะ ม้า โดยพิจารณาลักษณะดังต่อไปนี้

๑. ผิวม้า ม้ามาจากตระกูลดี และม้าลักษณะดีจะต้องมีผิวหนังบาง ขนสั้น มองเห็นรอยเส้นเลือดได้ชัดเจน เรียกว่า ม้าผิวบาง
๒. อวัยวะภายนอก ม้าที่มีกล้ามเนื้อใหญ่โต ขาใหญ่ คอหนา ศีรษะโต ม้าที่มีลักษณะเช่นนี้ เป็น ม้าแข็งแรง แต่ไม่ว่องไว เรียก ม้าทึบ
 ๓. นิสัย ม้าที่มีลักษณะหงอย ไม่ปราดเปรียว ส่วนมากมักจะแข็งแรง เรียกว่า ม้าเลือดเย็น ม้าที่มีลักษณะปราดเปรียว ส่วนมากนิสัยดี และมีสายเลือดดี เรียก ม้าเลือดร้อน
 ๔. ส่วนศีรษะ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
            ส่วนหน้า จากตาถึงปลายจมูก
           ส่วนกระหม่อม จากตาถึงท้ายทอย
            ม้าที่ตระกูลดี ฉลาด ว่องไว และเลือดร้อนส่วนหน้าจะเล็กกว่าส่วนกระหม่อมมาก
            สันจมูก ม้าที่มีสันจมูกตรงหรือแอ่นงอนแสดงว่าเป็นม้าเลือดเย็น ม้าที่มีสันจมูกโค้งและนูนตรงกลางแสดงว่าเป็นม้าเลือดร้อน
            รูจมูก ม้าที่มีรูจมูกกว้าง มักจะเป็นม้าที่ แข็งแรง
            ปาก ม้าปากกว้าง (มุมปากอยู่ใกล้แก้ม) เป็นม้าที่แข็งแรง ม้าปากเล็ก มุมปากเล็ก (มุม ปากตื้น) มักจะเป็นม้าว่าง่าย สอนง่าย
            ตา ม้าตากลมโตจะเป็นม้าเลือดเย็น สอนง่ายม้าตาเล็กจะเป็นม้านิสัยโกง
            ขากรรไกร ม้าขากรรไกรหนาและม้าขา กรรไกรโต มักจะมีนิสัยขี้โกง เกียจคร้าน
            หู ม้าตระกูลดี ได้แก่ ม้าหนู คือ หูเล็ก บางและชิดกัน ม้าตระกูลปานกลาง ได้แก่ ม้าหูกระต่าย คือ หูเล็กแต่ยาว ม้าตระกูลไม่ดี ได้แก่ ม้าหูลา หูใหญ่ยาวปลายเรียว ม้าหูวัว หูจะสั้น หนา
๕. คอ             สันคอ ม้าที่มีสันคอบาง เป็นม้ามีตระกูลดีวิ่งเร็ว แต่ไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนม้าที่มีสันคอหนา เป็นม้าตระกูลไม่ดี วิ่งไม่ค่อยเร็ว แต่แข็งแรง
             ผมแผง ม้าตระกูลดี ผมแผงจะมีขนเส้นบาง  ๆ ม้าตระกูล ไม่ดีผมแผงคอจะหยาบ เส้น หนา
             รูปคอ คอม้ามีรูปร่างต่างกันออกไป ซึ่งจะ เป็นลักษณะที่เป็นเครื่องสังเกตว่า ม้าจะดีหรือไม่ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด
             ม้าคอหงส์ คือลักษณะรูปคอที่โค้ง ตลอด ตั้งแต่ต้นคอจนถึง ปลายคอ ม้าที่มีคอ ลักษณะเช่นนี้ จะเป็นม้าที่วิ่งเรียบและมีฝีเท้าเร็ว ขี่สบาย
             ม้าคอตรง คือม้าที่สันคอโค้ง ส่วนใต้คอตรง มีรูปคอพอเหมาะ ม้าที่มีลักษณะเช่นนี้ จะแข็งแรง ว่องไว เหมาะแก่การขี่
๖. ตะโหงก เป็นสิ่งแสดงความแข็งแรงของม้าม้าที่ว่องไวจะมีตะโหงกสูงเด่น ส่วนม้าตะโหงกเตี้ยแสดงว่าม้าไม่แข็งแรง
๗. ส่วนหลัง เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของคนที่นั่ง บนหลังม้า ม้าที่มีลักษณะหลังที่ยาว และอ่อน แสดงถึงว่าม้านั้นไม่แข็งแรง เพราะเมื่อใช้ขี่ หรือ บรรทุกของ จะทำให้หลังอ่อนรับน้ำหนักได้ไม่มาก ถ้าม้าที่ส่วนหลังสั้นจะทำให้ม้าเอี้ยวตัวไม่    สะดวก และเป็นเครื่องชี้ให้ทราบได้ว่าปอดม้านั้นจะไม่ใหญ่ เวลาวิ่งจะเหนื่อยเร็ว เราแบ่งลักษณะรูปส่วนหลังม้าออกเป็น :



         -  ม้าหลังโค้ง เป็นม้าที่รับน้ำหนักได้ดีมาก และมีความอดทนต่อน้ำหนักที่รับ แต่ถ้าใช้ขี่จะ กระเทือนมาก ม้าชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้บรรทุก สิ่งต่าง  ๆ
          -  ม้าหลังตรง เป็นม้าที่มีลักษณะดี เมื่อเวลา บรรทุกของ หลังจะแอ่นลงเล็กน้อย ม้าชนิดนี้รับ น้ำหนักได้ดี มีความอดทนและขี่สบาย
           - ม้าหลังแอ่น ม้าที่มีลักษณะรูปหลังแอ่นเมื่อบรรทุกของหรือรับน้ำหนักคนขี่จะทำให้หลังแอ่นมากขึ้น ม้าชนิดนี้จะรับน้ำหนักมากไม่ได้ แต่ใช้ขี่ได้เรียบสบาย

 ๘. ส่วนก้นหรือส่วนท้ายของม้า ม้าที่มีก้นหนาใหญ่ จะเป็นม้าที่มีกำลังมาก แข็งแรงและ วิ่งได้เร็ว
 ๙. หาง มีประโยชน์สำหรับป้องกันยุงและแมลง มารบกวน ฉะนั้นจึงไม่ควรตัดหางม้าให้สั้นเกินไป หางม้ายังบอกตระกูลของม้าได้ โดยดูตำแหน่ง การติดของมัน หางติดสูง คือตำแหน่งของหางจะ ติดได้ระดับเดียวกันกับก้นของม้า แสดงว่าเป็น ม้าตระกูลดี หางติดต่ำหรือหางจุกตูด เป็นม้า  ตระกูลไม่ดีไม่สวยงาม หางติดปานกลาง  แสดงว่าเป็นม้าตระกูลพอใช้ได้

 ๑๐. หน้าอก เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า ม้านั้น แข็งแรงหรือไม่ แบ่งออกเป็น                                                                           - ม้าอกราชสีห์ คือ ม้าที่มีหน้าอกกว้าง มี กล้ามเนื้อมาก และกล้ามเนื้อนูนเป็นก้อนทั้งสองข้าง แสดงว่าเป็นม้าที่มีกำลังแข็งแรง มีความอดทนดี
          - ม้าอกไก่ คือ ม้าที่มีหน้าอกแคบ กล้าม เนื้อน้อยและอกนูนเป็นสันลงมา ตรงกลางดู คล้ายอกไก่ เป็นม้าที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก
          - ม้าอกแคบหรืออกห่อ คือ ม้าที่มีกล้ามเนื้ออกน้อย เวลายืนขาหน้าจะชิดกันมาก แสดงว่าไม่แข็งแรงและไม่อดทน
๑๑. สวาบ สวาบของม้าธรรมดา มักจะกว้างราว ๑ ฝ่ามือ จึงจะนับว่าพอดี ถ้าสวาบกว้างกว่านี้ ส่วนมากนับว่าไม่แข็งแรง มักจะเป็นม้าเอวบาง หรือเอวอ่อน
 ๑๒. สะบัก ม้าที่มีสะบักยาว มักวิ่งได้เร็ว เนื่องจาก ม้าเหยียดขาไปข้างหน้าได้มาก ก้าวขาได้ยาว และเร็ว สะบักม้าที่ดีจะมีความยาวเท่ากับส่วนศีรษะ หรือถ้ายาวกว่าส่วนศีรษะยิ่งดี สะบักควรจะเอน ประมาณ ๕๐-๖๐ องศากับลำตัวจึงนับว่าดี
๑๓.  ขาหน้า ขาหน้าจะต้องไม่โก่งหรือแอ่น ขาทั้งคู่ควรจะตั้งตรง จึงจะเป็นม้าที่วิ่งได้ดี ม้าที่ปลายเท้าแคบ หรือยืนบิดปลายเท้า หรือยืนขาถ่าง มักจะวิ่งไม่เร็ว
           ส่วนประกอบของขาหน้าที่ควรพิจารณาได้แก่
           - โคนขา ควรจะมีกล้ามเนื้อแข็งแรง และ ค่อย  ๆ เรียวลงมาตามลำดับ และผิวหนังบาง เห็นเส้นเอ็นได้ชัดจึงจะดี
           - หน้าแข้ง ต้องเรียวเล็กลงตามลำดับ มีผิว หนังบาง ขนละเอียด ไม่ปุกปุยและหยาบกีบ ม้าที่มีกีบเล็กจะวิ่งได้เร็วกว่าม้าที่มีกีบใหญ่ กีบที่ดีจะต้องเรียบไม่เป็นลูกคลื่น หรือมีรอยแตกร้าว
๑๔. ขาหลัง เช่นเดียวกับขาหน้า คือ ตั้งได้พอเหมาะ ขาหลังทั้งสองต้องอยู่ห่างกันพอเหมาะ เวลาม้ายืนขาหลังต้องเอนเข้าข้างในตัวเล็กน้อยและ ข้อตาตุ่มของขาหลังโตกว่าข้อตาตุ่มของขาหน้าเล็กน้อย

         


[กลับหัวข้อหลัก]

ตำแหน่งของฟันม้า
การดูแลและรักษา - - การทำความสะอาดม้า

           การทำความสะอาดม้าการทำความสะอาดม้านี้ต้องทำเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับคนที่ต้องทำความสะอาด
ตัวเอง การทำความสะอาดม้าอาจแบ่งได้ดังนี้
    ๑. การกราดม้า มีประโยชน์ทำให้ร่างกายม้าสะอาด ป้องกันโรคผิวหนังและทำให้หนังมีความสมบูรณ์ การกราดนั้นต้องใช้กราดเหล็กกราดตามคอ ตามตัว เพื่อให้ขี้รังแคออกให้หมดการใช้กราดต้องคอยระมัดระวังอย่าให้ผิวหนังม้าถลอกเพราะฟันของกราดเป็นเหล็ก ม้าเป็นสัตว์ที่มีผิวหนังบาง ดังนั้น ส่วนที่คอและท้องของม้าไม่ควรกราดด้วยกราดเหล็ก
    ๒. การแปรง จับแปรงด้วยมือขวาและถือกราด เหล็กด้วยมือซ้าย เอาแปรงขนย้อนขนไปมาจน ขี้รังแคติดที่แปรง แล้วนำแปรงมาถูกับกราด (การแปรงนี้กระทำภายหลังจากกราดแล้ว) ทำเช่นนี้ไปจนทั่วตัวม้า การยืนทำความสะอาด ผู้ที่ทำ ความสะอาด ควรยืนเหนือลม หันหน้าม้าไป
ทางทิศทวนลม (ถ้าทำได้)
    ๓. การเช็ดตัวม้า ภายหลังจากกราด และแปรงจนทั่วตัวม้าเรียบร้อยแล้ว ก็ทำความสะอาดเช็ดตัวม้าด้วยผ้าสะอาดที่บริเวณตา จมูก ปาก หู ตามใบหน้าและทั่ว  ๆ ไป อีกครั้งหนึ่ง
           การทำความสะอาดม้าที่ออกกำลังมาใหม่  ๆควรใช้ฟางหรือหญ้าถูตามตัวให้ทั่ว เพื่อให้เหงื่อที่จับตามตัวแห้งสนิท และเพื่อให้เลือดใต้ผิวหนังกระจายไป

   ๔.การนวดม้า เป็นการนวดตามกล้ามเนื้อและตามข้อต่าง  ๆ ที่เคลื่อนที่ไปมา โดยการนวดด้วย น้ำมัน ใช้สันมือถูนวดแรง  ๆ (ระวังอย่าใช้น้ำมัน ที่ร้อนเกินไป ถูนวดบริเวณผิวหนังที่บาง) การ นวดนี้ควรนวดให้ทั่ว
   ๕. การอาบน้ำม้า การอาบน้ำม้านี้ถ้าทำได้ควร  อาบน้ำม้าสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อจะได้ทำความ สะอาดม้า ล้างฝุ่นและโคลนที่ติดตามตัว กราด แปรงไม่ออก ในการอาบน้ำม้านี้จะอาบด้วยน้ำเย็น หรือน้ำอุ่นก็ได้ แต่มีข้อระวังในการอาบน้ำม้า คือ
           (๕.๑) ถ้าลงอาบน้ำในบ่อ สระ แม่น้ำ ลำคลอง ควรจะหาที่ให้ม้าลงอาบน้ำได้สะดวก เป็นที่ ๆ ตลิ่งไม่ชัน และไกลจากสิ่งโสโครก
           (๕.๒) ที่อาบน้ำม้าไม่ควรไกลจากโรงม้า มากเกินไป เพราะการเดินไปมาอาจทำให้ม้าร้อนมากและเป็นหวัดได้
           (๕.๓) ในเวลาแดดร้อนจัดไม่ควรอาบน้ำม้า
           (๕.๔) ม้าเป็นหวัด เป็นไข้ ไม่ควรอาบน้ำ
           (๕.๕) เมื่ออาบน้ำแล้วควรเช็ดตัวให้แห้ง ระวังอย่าให้ถูกลมจัดเกินไป
   ๖. การตัดขนม้า มีประโยชน์สำหรับกราดและ แปรงได้สะดวกขึ้น และดูสวยงาม การตัดขนนี้โดยทั่วไปมักตัดกันเมื่อขนยาว แต่ทางที่ดีแล้ว
           การตัดขนม้านั้นควรตัดในฤดูหนาว เพราะว่าใน ฤดูหนาวเมื่อม้าออกกำลังแล้ว เหงื่อม้าจะไม่ซึมออกมาข้างนอก เป็นรังแคง่าย ทำให้การทำความสะอาดม้าเป็นไปด้วยความลำบากเพราะขนม้ายาว การตัดขนนี้ต้องตัดทั่วตัวม้า ถ้าหากทำได้แล้วควรตัดขนม้าปีละ ๑ ครั้ง ในการตัดขนทุกครั้งควรตัดนอกโรงม้าเพราะขนม้าอาจปลิวไป เมื่อม้าตัวอื่น  ๆ หายใจเข้าไป จะทำให้อวัยวะหายใจขอ ม้าพิการได้
   ๗. การตัดแผงคอ ผมหน้า และซอยหาง
           (๗.๑) การตัดแผงคอของม้านั้น โดยทั่วไป ดูว่าม้าตัวนั้นมีแผงคอสวยหรือไม่ เจ้าของม้าบางคนไม่นิยมไว้แผงคอม้า อาจตัดออกก็ได้
           (๗.๒) การตัดผมหน้า โดยธรรมดาทั่วไป ผมหน้านั้นป้องกันแดดส่องกระหม่อมและตา แต่ถ้าหากว่าผมหน้ายาวและหนาเกินไปก็อาจตัดและ ซอยออกได้บ้าง เพื่อความสวยงาม และไม่ให้ผมหน้าเข้าตาม้าตลอดเวลา ซึ่งมักทำให้ตาม้าเจ็บหรืออักเสบได้เสมอ  ๆ
           (๗.๓) การซอยหาง ขนหางม้ามีไว้สำหรับ ไล่แมลง แต่ถ้าหากว่ายาวเกินไปและหนา ก็อาจตัดและซอยออกเพื่อความสวยงามก็ได้ แต่ไม่ควรให้สั้นกว่าข้อน่องแหลมนอกจากนี้แล้วขนที่ควรตัด ได้แก่ เคราใต้ คางม้าควรตัดให้หมด ขนที่ใต้ข้อน่องแหลม ไรกีบ ควรตกแต่งให้สวยงาม
    ๘. การตอกกีบ เกือกม้าสำหรับม้าแข่งสำคัญมากไม่ว่าจะแข่งทางราบหรือแข่งกระโดด คล้าย  ๆ กับ นักวิ่งที่ใส่รองเท้าตะปูกับนักวิ่งเท้าเปล่า รองเท้าจะทำให้การเกาะจับพื้นดินดีขึ้น ไม่ลื่น ในการ ตอกเกือกม้านี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ก่อนตอกดูการ เดิน หลังการตอกก็ต้องดูการเดินของม้า ดูแนว ตะปูเกือกสนิทหรือไม่ เอียงหรือตะแคงหรือไม่ความสูงเท่ากันหรือไม่ นอกจากนี้แล้วจะต้องดู ให้ปลายตะปูพับเรียบร้อยแนวเดียวกัน
    ๙. การบำรุงกีบม้า การบำรุงกีบม้าเป็นสิ่งสำคัญ มากถึงแม้ว่าม้าบางตัวกีบจะแข็ง แต่ผู้เลี้ยงบำรุงมักจะไม่เข้าใจเรื่องการบำรุงรักษากีบ ฉะนั้น
กีบม้าจึงเสียบ่อย  ๆ วิธีบำรุงกีบม้าให้ปฏิบัติดังนี้คือ
           (๙.๑) เมื่อกลับจากซ้อมหรือแข่งแล้วต้องแคะเอาดิน โคลน เศษหิน ฯลฯ ที่ติดอยู่ในกีบออกให้หมด
           (๙.๒) การล้างกีบ ถ้าใช้น้ำอุ่นได้ยิ่งดี ถ้าใช้น้ำเย็น ไม่ควรล้างเวลาที่ม้ากลับจากซ้อมหรือแข่ง ใหม่ ๆ ควรรอให้ม้าพักประมาณ ๕ นาที ก่อน
 จึงล้างกีบ
           (๙.๓) การที่จะให้ม้ากีบอ่อน เหนียว ต้อง ให้ม้าได้ออกกำลังกายทุกวันและวิ่งในที่นุ่ม  ๆ
           (๙.๔) ห้ามขี่ม้าในที่แข็ง เช่น บนถนน ไม่ ควรวิ่งเร็วเกินไป และไม่ควรผ่านพื้นที่ ที่มีก้อนหินโต  ๆ
           (๙.๕) ห้ามใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ตะไบ กระดาษทราย ขัดถูที่ประทุน กีบ หรือพื้นกีบม้า เพราะจะทำกีบเสียและทำให้กีบแห้งแตกร้าว แต่การใส่เกือกก็ตัดแต่งได้เล็กน้อย
           (๙.๖) ม้าไม่ควรยืนบนพื้นแข็ง เช่น กระดานพื้นซีเมนต์ นาน ๆ โดยไม่มีสิ่งปูรอง เช่น ฟาง หรือหญ้า
           (๙.๗) ถ้าม้ากีบแห้ง ควรทำให้กีบม้าอ่อน โดยใช้ดินเหนียวพอก หรือเอาผ้าชุบน้ำพัน หรือให้ม้ายืนในที่แฉะ เช่น ในโคลนที่ไม่สกปรก
           (๙.๘) ไม่ควรเอาน้ำมันอย่างใดอย่างหนึ่งที่ เป็นพิษร้อนหรือยางไม้ทา
           (๙.๙) ต้องคอยระวังเปลี่ยนเกือกม้าให้ เรียบร้อยตามกำหนดของเกือกหรือถ้าตะปูหลุดหลวม หรือคลอน ก็จัดการแก้ไขทันที
           (๙.๑๐) ถ้าม้าไม่ได้สวมเกือกนาน  ๆ ควรได้ตัดแต่งกีบบ้าง เพื่อให้กีบมีรูปร่างถูกต้องเสมอคอกม้า




วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเลี้ยงดูม้า

เนื่องจากไทยโพนี่ตั้งเป้าในการผลิตลูกม้าเพื่อให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทย โดยเฉพาะการทำให้ม้านั้นเป็นผู้ช่วยใส่ปุ๋ยให้กับพืชต่างๆ เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนกาแฟ สวนทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย และสวนผลไม้ประเภทอื่น โดยมีข้อม้ว่าจะต้องปรับขนาดของม้าให้มีสรีระและส่วนสูงที่เหมาะสมกับคนไทย และเราได้พบว่า ม้าลูกผสมที่ส่วนสูงไม่เกิน 155 ซม.(ประมาณ 15.2 แฮนด์) จะมีความเหมาะสมและทนทานต่อสภาพอากาศเมืองไทยมากที่สุด แต่หากมีความสูงเกินจากนี้ จะพบความอ่อนแอในม้าตัวนั้นๆ เช่นกีบไม่แข็งแรง เปลี่ยนอาหารไม่ได้ หรือท้องอืดได้ง่าย ที่สำคัญคือม้าจะมีขนาดใหญ่มากและต้องให้อาหารเสริมตลอดเวลา ไม่สามารถเลี้ยงดูโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติจากท้องถิ่นเป็นหลักได้ ทำให้เป็นภาระของผู้เลี้ยงมากกว่าเป็นผู้แบ่งเบาภาระ และในขณะนี้ได้ค้นพบว่าม้าลูกผสมเหล่านี้สามารถกินลูกยาง ใบยางพารา ใบปาล์ม ทางมะพร้าว ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามก็ควรจะมีการถ่ายพยาธิให้ม้าอย่างน้อยปีละสอง-สาม ครั้ง และควรมีโรงเรือนเพื่อให้ม้าได้พักในเวลากลางคืน แต่ไม่จำเป็นต้องกางมุ้งให้เขา แค่สุมไฟไล่ยุงและมีน้ำสะอาดให้ตลอดเวลาก็เพียงพอแล้วการให้อาหารโดยการคำนวณจากน้ำหนักม้า
สิ่งที่นำมาเสนอเอามาจากเว็บไซต์ที่มีโปรแกรมการคำนวณน้ำหนักม้าโดยการวัดรอบอกม้า (Heart Girth)  และการวัดความยาวม้า จากอกไปโคนหาง ( Body Length)  หลังจากนั้นนำมาคำนวณปริมาณอาหารที่จะต้องให้ม้าต่อมื้อ โดยมีหน่วยเป็นทั้ง กก. และปอนด์ นอกจากนี้ยังมีตารางน้ำหนักม้าที่ความสูงต่างๆเช่น ม้าสูง 13 แฮนด์ หนักประมาณ 290-350 กก.   ม้าสูง 14 แฮนด์ หนักประมาณ 350-420 กก. และม้าสูง 15 แฮนด์จะหนักประมาณ 420-520 กก.  
การใส่ค่าประกอบการคำนวณในการให้อาหารม้าจะต้องใส่ค่าตัวแปรของการรับภาระของม้า (Work Load) ดังนี้คือ  
ม้าทำงานเบา   (Light Load)    เช่นใช้ขี่เดินเล่นใช้เวลาไม่นาน หรือ   ม้าที่ฝึกเล็กๆน้อยๆ
ม้าทำงานปานกลาง (Moderate Load) เช่น ใช้ขี่ออกเทรลวันละ 1-2 ชม.   ม้าที่ฝึกประมาณไม่เกินครึ่ง ชม. ต่อวัน
ม้าทำงานหนัก (Heavy Load) ม้าที่เข้ารับการฝึกอย่างเข้มข้น   ม้าแข่งเอ็นดูร๊านซ์ ม้าขี่กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง   ม้าเข้าแข่งขันประเภท เดรสสาจ
ตัวอย่างการคำนวณ ม้าที่มีความยาวรอบอกเท่ากับ 60 นิ้ว   ยาวลำตัว 80 นิ้ว จะมีน้ำหนัก 379 กก. ในสภาพของการใช้งานเบา ที่น้ำหนักตัวปกติ (Normal Weight)  และควรให้อาหารหยาบ 5 กก. ต่อวัน    และอาหารข้นหรือหัวอาหารประมาณ 2 กก. ต่อวัน 
อีกสูตรหนึ่ง อันนี้เป็นการคำนวณมือ โดยการใช้สูตรดังนี้
น้ำหนักม้า    = รอบอก X รอบอก X  ความยาวลำตัว เมื่อได้ผลลัพธ์แล้วให้หารด้วย 300 และบวกอีก 50 หน่วยออกมาเป็นปอนด์  ผมลองดูทั้งสองสูตรแล้วพบว่าสูตรอันแรกเวิร์กกว่ามาก ๆ
 
 
การอาบน้ำม้า
การอาบน้ำม้าที่ไม่ได้ใช้งานมากให้ทำอาทิตย์ละครั้งก็เพียงพอ และควรสร้างซองอาบน้ำให้มั่นคง ม้าควรเริ่มหัดอาบน้ำตั้งแต่อายุประมาณ 4-6 เดือน
การแปรงขน ควรใช้แปรงสำหรับแปรงขนม้าโดยเฉพาะ อย่าใช้แปรงซักผ้าหรืออื่นๆ เพราะไม่ได้ผลดี การแปรงขนควรทำทุกวัน หากไม่เช่นนั้นจะทำให้ขนม้าติดอยู่ตามแปรงแกะออกลำบาก และก่อให้เกิดโรคผิวหนังม้าในที่สุด
การแคะกีบ ควรแคะกีบให้มาทุกครั้งหลังอาบน้ำ พยายามใช้เหล็กแคะกีบ เขี่ยเศษสิ่งสกปรกในกีบออกมาให้หมด หากกีบมีกลิ่นเหม็นต้องสังเกตว่ามีบาดแผลหรือไม่ และใส่ยารักษาให้เรียบร้อย
อาหารม้า
อาหารม้า
อาหารม้าสามารถแบ่งได้ตามวัยดังนี้ คือ  อาหารม้าลูกม้า  อาหารม้าโต อาหารแม่ม้า และอาหารม้าแข่ง  อาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีขายเป็นตราอักษรดังๆ เช่น อาหารม้าของซีพี อาหารม้าของนิวทริน่า (Nutrena) (สองยี่ห้อนี้มีส่วนผสมของโปรตีนไม่เกิน 14 %)  นอกจากนี้ยังมีอาหารม้าสูตรผสมเอง ที่ทำให้เกษตรกรสามารถผสมเองได้  แต่หากหาอาหารม้าไม่ได้ ให้ใช้สูตร(เพื่อพลาง) ดังนี้
อาหารหมู     3.5             ส่วน (ม้าเล็กใช้อาหารหมูเล็ก  ม้ากลางใช้อาหารหมูกลาง แม่ม้าหรือม้าท้องใช้อาหารหมูนม หากมีอาหารม้าก็ใช้อาหารม้าเลย)
รำละเอียด    3-4             ส่วน
ข้าวเปลือก      2              ส่วน
ข้าวโพด          1              ส่วน
กากน้ำตาล   0.3-0.5        ส่วน
รวมทั้งหมด  10 ส่วนต่อมื้อ หรือหากคิดเป็นกิโลกรัมก็ไม่ควรเกิน  3 กก. ต่อมื้อสำหรับม้าใหญ่ (ม้าเทศ)  และหากม้าเล็กกว่านี้ก็ลดลงตามสัดส่วน   และควรให้อาหารวันละสามมื้อ หรืออย่างน้อยควรให้เช้าและเย็น
หมายเหตุว่า  1 ส่วนประมาณ 1 กระป๋องนมข้นหวาน
เสร็จจากการให้อาหารข้นข้างบนนี้แล้วหลังจากนั้นจึงทอดหญ้า(เอาหญ้าใส่ราง) ให้กิน การทอดหญ้าจะมีรางหญ้าต่างหากและใส่หญ้าแห้งหรือฟางไว้ให้ม้าเล็มกินได้ตลอดเวลา แต่หากเลี้ยงแบบประหยัดก็ให้นำม้าไปปล่อยในแปลงหญ้า หรือล่ามเชือกให้กินหญ้าได้
 
      การให้อาหารม้ามีข้อเตือนใจว่า สำหรับม้ายืนโรงหรือม้าขังคอกที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หากให้อาหารน้อยก็แค่ผอมและอดอาหาร แต่การให้อาหารมากเกินไปและไม่เป็นเวลาอาจทำให้ม้าท้องอืดถึงตายได้
น้ำ จะต้องมีภาชนะใส่น้ำสะอาดให้ม้ากินตลอดเวลา เน้นว่า  น้ำต้องสะอาดและต้องเปลี่ยนถ่ายทุกวัน
     
การให้แร่ธาตุอาหารเสริม
เนื่องจากม้าเป็นสัตว์ที่ใช้พลังงานสูง ร่างกายมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากอาหารหลักที่ได้รับในแต่ละวันแล้ว ม้ายังต้องการแร่ธาตุอาหารมาบำรุงร่างกายตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องด้วย และหากเป็นม้าที่ใช้งานหนักเสียเหงื่อเยอะ จำเป็นต้องชดเชยแร่ธาตุให้ครบถ้วน สำหรับกรณีนี้เราจึงต้องจัดอาหารเสริมไว้ให้ม้าได้เลียกินตลอดเวลา และที่ฟาร์มได้ใช้แร่ธาตุอาหารคลุกเคล้ากับเกลือวางใว้ให้ม้าตลอดเวลา และจากการสังเกตพบว่าม้าจะมีการขยายกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มให้อาหารเสริมไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน
 
เมื่อก่อนตอนเริ่มเลี้ยงม้าแรกๆ ไทยโพนี่ยังคงยืนยันการเลี้ยงม้าแบบพอเพียง กล่าวคือให้เฉพาะหญ้าและอาหารเสริมเป็นครั้งคราว แต่เมื่อลองไปได้สักพักก็พบว่าอาการเสริมสำหรับม้าก็เปรียบดั่งวิตามินและเกลือแร่สำหรับคน ในระยะแรกเคยผสมดินโป่งเลียนแบบธรรมชาติให้เขาเลีย ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง ไทยโพนี่จึงเลิกผสมดินโป่ง หันมาใช้เกลือคลุกซีรีเนียมแทน และใส่รางไว้ให้เลียยามต้องการตลอดเวลา
การให้แร่ธาตุเสริมในม้า (ข้อมูลจาก Selenium - poison or miracles: By Robin Marshall : www.horsetalk.co.nz)
เป็นที่ถกเถียงกันในวงการคนเลี้ยงม้ามานานแล้วว่า ซีรีเนียม หรือแร่ธาตุเสริมสำหรับม้านั้นจำเป็นหรือไม่ อย่างไร 
ขอตอบก่อนเลยว่า เอกสารฉบับนี้ยืนยันการเดินทางสายกลางไว้ครับ นั่นคือ น้อยเกินไปก็ไม่ดี และมากไปก็มีโทษ
เมื่อแรกเริ่มเลี้ยงม้านั้น ไทยโพนี่ไม่เคยให้ความสำคัญกับแร่ธาตุหรืออาหารเสริมใดๆ สำหรับม้าเลย เพราะเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองสำหรับคนเลี้ยงม้าระดับรากหญ้า และโดยที่การเลี้ยงม้านั้นก็ถือว่าเป็นภาระหนักพอสมควรอยู่แล้ว หากไปเพิ่มภาระรายจ่ายก็จะทำให้เกษตรกรเกิดความเบื่อหน่ายและเลิกเลี้ยงในที่สุด ก็จะทำให้ปริมาณผู้เลี้ยงและปริมาณม้าลดจำนวนลง จนในที่สุดก้ไม่เกิดกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับม้าขึ้น 
ภายหลังจากไทยโพี่มีประสบการณ์การเลี้ยงม้าและเพาะพันธุ์ม้ามากขึ้น เราจึงพบว่า อาหารเสริมสำหรับม้านั้นจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะซีรีเนียม   เพราะจะทำให้ม้ามีรูปร่างสมบูรณ์ และแข็งแรงมากกว่าตอนที่ไม่ได้ให้แร่ธาตุเสริม    ดังนั้นวันนี้จะขอกล่าวถึงซีรีเนียมโดยเฉพาะ
ธาตุซีรีเนียม (Selenium , Se) นั้นเรารับรู้กันมานานว่ามีความสำคัญทางโภชนาการตั้งแต่ปี 1957   แต่ได้เริ่มบันทึกบันทึกผลของมันโดย มาร์โค โปโล   ใน ค.ศ. 1817 ว่าเป็นสารที่มีอยู่ในพืชบางชนิด ที่หากม้ากินเข้าไป (ในจำนวนมากเกินไป) ก็จะทำให้กีบแตก หรือสึกกร่อนง่าย    และเจ้าสารชนิดนี้พบในพืชที่ขึ้นทางตอนเหนือของอเมริกากลาง ประมาณแถวๆ มลรัฐควีนส์แลนด์ 
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า เจ้าพืชที่ชื่อ แอสตรากาลัส เรสเมส (Astragalus racemes) เป็นพืชที่สะสมซีรีเนียมได้มากถึง 14990 ส่วน ใน 1000 ส่วน หรือพูดง่ายๆ มันมีสะสมสารซีรีเนียมว่ามีมากจนล้นตัวมันนั่นเอง
ในนิวซีแลนด์พบว่า สัตว์ที่กินสารเหล่านี้มากจนเกินขนาดมักจะตาย เพราะยังไม่มียาแก้ 
การขาดสารซีรีเนียมนั้น มักพบว่า สัตว์จะเกิดอาการ กล้ามเนื้อลีบ หรือเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบ   ท่าเดินหรือการเดินจะไม่เรียบหรือกระโดกกระเดก   (Stiff Gaits)   และปัญหาอื่นๆตามมาเยอะแยะ   เช่น กินเท่าไรก็ไม่อ้วน สำหรับม้าจะสังเกตง่ายๆว่า กระดูกสะโพกและซีโครงจะโปนออกมา (อันนี้ไทยโพนี่ว่าเองจากประสบการณ์)
มีผู้รู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามอ้างว่า การใช้ซีริเนียมนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกทีเดียวเชียว กล่าวคือเป็นเรื่องของฟาร์มใครฟาร์มมัน   เพราะว่าขึ้นกับว่าปริมาณซีริเนียมในดินหรือแหล่งที่ตั้งของฟาร์มนั้นมีซิรีเนียมอยู่มากน้อยแค่ไหน เพียงไร  
การให้ซีรีเนียมเสริมอาจทำได้โดยการฉีดร่วมกับการให้วิตามิน บี 12   แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์
สำหรับม้านั้น มีข้อถกเถียงกันมานานเรื่องซีรีเนียม หากเป็นม้าแข่งได้รับอาหารม้าแข่งตามปกติ ก็ไม่ต้องเสริม เพราะในอาหารม้าแข่งจะมีซีรีเนียมผสมอยู่แล้ว แต่หากเป็นม้าทั่วไป ที่ปล่อยเล็มหญ้าก็ควรเสริมแร่ธาตุดังกล่าวบ้าง 
แต่สุดท้ายโรบินสรุปว่า สำหรับม้าควรให้ประมาณ   0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ม้าหนัก 300-500 กก. ก็ควรใช้ประมาณ 30-50 มิลลิกรัม หรือประมาณ ครึ่งช้อน - 1 ช้อนชา ต่อวัน เน้นว่า ต่อวันนะครับ ไม่ใช่ต่อมื้อ )
ของไทยโพนี่เวลาใช้ก็จะผสมเกลือประมาณ เกลือ 1 กก. ต่อซีรีเนียม 3 ช้อนโต๊ะ (สำหรับม้า 10 กว่าตัว) คลุกคล้าใส่ภาชนะไว้ข้างรางอาหารหรือวางไว้ในที่ที่ม้าทุกตัวสามารถมาเลียกินได้ตลอดเวลา     สักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ให้ครั้งก็เพียงพอ
 
การถ่ายพยาธิ
วิธีการดังนี้ครับ
1. หาซื้อยาถ่ายพยาธิตามร้านสัตวแพทย์หรือร้านอาหารสัตว์ทั่วไป ยี่ห้อตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ส่วนใหญ่เป็นยาน้ำ
2. ขอเข็มฉีดยา พร้อมหลอดดูด (ไซริงขนาดไม่น้อยกว่า 20 ซีซี) เขามาด้วย
3. แวะซื้อน้ำหวานเฮลบลูบอยมาสัก 1 ขวดที่ร้านขายของทั่วไป
4. เปิดฝาขวดยา ติดเข็มเข้าที่หลอดไซริง เจาะฉึกเข้าไปที่ฝา จุ่มเข็มให้ลึกเพื่อดูดตัวยา หากให้ดีควรเอียงขวดสักหน่อยพองาม ดูดยาเข้าหลอดหากเป็นม้าใหญ่ก็ซัก 10 ซีซี (ม้าหนัก300 กก.) และลดหลั่นกันไปตามลำดับ แต่ม้าเล็กยังไงก็ไม่ควรจะน้อยกว่า 5 ซีซี
5. ดึงไซริงออก ชักเข็มออกจากหลอดไซริงที่มียาอยู่ บอกคนที่อยู่ใกล้ๆให้เทน้ำหวานใส่ถ้วยสักค่อนถ้วย นำหลอดยาจุ่มในน้ำหวานดึงตูดดูดน้ำหวานจนเต็มพิกัด เขย่ายาและน้ำหวานสักเล็กน้อยพอเข้ากัน
6. เรียงม้าเข้ามาตามเบอร์ หากไม่มีขลุมจงจับใส่ให้เรียบร้อย จับม้าเงยหน้าอ้าปาก เอาหลอดยาแตะปากให้รู้ว่าหวาน พอม้าอ้าปากจึงกดเข็มส่งให้ยาพุ่งเข้าให้ถึงลำคอ ดันปากล่างม้าไว้จนกลืนเกลี้ยงเกลา
7. อีก 3-4 เดือน จึงมาทำพิธีตั้งแต่ 1-6 ใหม่

ฝูงม้าเล็ก ในอ้อมกอดเขาใหญ่ นครนายก



ด้วยธรรมชาติที่สวยงามของเทือกเขาใหญ่ นครนายก ที่โอบล้อมเราอยู่ ทำให้เรามีความต้องการพัฒนาม้าของเรา เพื่อการเที่ยวชมธรรมชาติ ป่าเขา ลำเนาไพร โดยที่เรามิได้มุ่งเน้นการพัฒนาที่ความสูงใหญ่ แต่เราต้องการม้าที่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ใจกล้า แข็งแรง สีสรรค์ สวยงาม ไม่สูงเกินไป และ นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาม้า (สายพันธ์ออฟโรด ของเรา) โดยมีพื้นฐานจากม้าไทยพื้นบ้าน